นับวันที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จำนวนของผู้เข้าสู่วัยชรา ก็มีเพิ่มสูงตามต่อเนื่องเช่นกัน เพราะทุกคนล้วนเข้าสู่ช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งนั้น
โดยเฉพาะทางด้านร่างกาย และจิตใจที่มักเกิดการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้น โรคในวัยชรา ก็ยิ่งพบได้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรมองข้ามหรือละเลย โรคที่มักเกิดขึ้นบ่อยในวัยชรา
โรคที่มักพบบ่อยเมื่อเข้าสู่วัยชรา มีโรคใดบ้าง?
เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อคนเราอายุ 30 ปีขึ้นไป ร่างกายก็มักมีการเสื่อมสภาพของอวัยวะต่างๆ ซึ่งการเสื่อมสภาพของระบบภายในร่างกายนี้
ก็นำมาซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคได้อย่างหลากหลายชนิดทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
โรคมะเร็ง โรคทางสมอง และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น นอกจากการเสื่อมสภาพทางร่างกายแล้ว ทางด้านจิตใจก็มีผลกระทบด้วย
โดยจะส่งผลต่อการดำรงชีวิต สังเกตได้จากผู้สูงอายุที่มักมีภาวะซึมเศร้า อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังทางกาย
จนทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ หรือเกิดขึ้นจากการถูกปล่อยทิ้งขว้างให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง
ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณมาดูกันค่ะว่า โรคที่พบบ่อยในวัยชรามีโรคใดบ้าง? จะได้เตรียมตัวรับมือให้เท่ากันกันต่อไป
1.โรคทางสมอง
โรคที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทางสมอง มักพบได้มากในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง
เครียด ไม่ค่อยออกกำลังกาย มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ และสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางสมอง
ซึ่งการเสื่อมสภาพของเซลล์ในสมองส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
สำหรับโรคทางสมองที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
2.โรคเกาต์
โรคเกาต์ เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยสูงอายุมากกว่าผู้หญิง อาการของโรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อ
โดยเกิดจากร่างกายมีการสะสมของกรดยูริกตามข้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนเราในแต่ละวัยก็มีระดับของกรดยูริกในเลือดอย่างแตกต่างกัน
เช่น หญิงที่อยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือนร่างกายจะมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากกว่าคนในวัยอื่นๆ อีกทั้งการรับประทานอาหารที่มีสารฟิวรีนปริมาณสูง
อย่างเนื้อไก่ เนื้อเป็ด เครื่องในสัตว์ ยอดผักและถั่วต่างๆ ก็นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกรดยูริกขึ้นในร่างกายมากไปได้เช่นเดียวกัน
3.โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นไปอย่างไม่เพียงพอ
จนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูง และก่อให้มีอาการต่างๆ ตามมา เช่น กระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย จนต้องดื่มน้ำปริมาณมากๆ ในแต่ละครั้ง
ผู้ป่วยยังมีอาการอ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย
เช่น อาการตาพร่ามัวหรือตาบอด ไตเสื่อม มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายอีกด้วย
4.โรคความดันโลหิตสูง
โดยปกติแล้ว ระดับความดันโลหิตของคนทั่วไปมักอยู่ที่ 120/80-139/89 มิลลิเมตรปรอท แต่หากตรวจวัดความดันแล้วพบว่า
มีค่าความดันโลหิตสูงมากกว่านี้ ก็อาจถือเป็นผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ มักป่วยด้วยโรคนี้กันเป็นอย่างมาก
ยิ่งไม่ควรละเลยการหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เสมอ สำหรับโรคนี้ผู้ป่วยเป็นแล้วมักจะไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน
หากแต่บางครั้งอาจจะมีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น และตาพร่ามัว หากไม่ทำการรักษาตั้งแต่เบื้องต้น
ปล่อยปละละเลยจนเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ อย่างเช่น อัมพฤกษ์ ตาบอด ไตวายและหัวใจวาย เป็นต้น
5.โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้นในผู้ชายและผู้หญิงมักมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว ในผู้ชายวัยสูงอายุที่มีอาการต่อมลูกหมากโต
จนเข้าไปกดท่อปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมาได้ลำบาก และยังมีอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน อีกทั้งยังปัสสาวะออกไม่หมด
จนทำให้เหลือปัสสาวะบางส่วนค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งนี่ก็คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
ในขณะที่ผู้หญิงสูงอายุนั้น มักเกิดโรคระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นจากการกลั้นปัสสาวะเอาไว้ไม่อยู่ โดยอาจเกิดจากระบบประสาทเสื่อมสภาพ
สุขภาพจิต กระเพาะหรือระบบทางเดินปัสสาวะมีการทำงานผิดปกติ เช่น เกิดการอุดตัน ติดเชื้อ หรือเกิดจากหูรูดไม่ดี เป็นต้น
6.โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ชายโดยเฉพาะ มักพบในชายวัยสูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปโดยมีสาเหตุการเกิดมาจากระบบฮอร์โมนเพศชายมีภาวะที่ไม่เป็นไปอย่างสมดุล จนทำให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากเจริญเติบโตยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นได้จากการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันสูง และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น
ซึ่งอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยมักไม่พบอาการแสดงใดๆ ออกมา จนต่อเมื่อมะเร็งมีการลุกลามหนักมากขึ้น ก็อาจทำให้มีอาการปัสสาวะแบบผิดปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ปวดเมื่อยตามตัวและปวดกระดูก
7.โรคตา
สำหรับโรคตาที่มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุก็คือ โรคต้อหิน โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อม และน้ำวุ้นในตาเสื่อมสภาพ
ซึ่งสาเหตุก็มีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ และยังมีอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่สาเหตุส่วนใหญ่ในการเกิดโรคตานั้น
มักเกิดขึ้นจากความเสื่อม ด้วยเพราะอายุที่มากขึ้นจึงส่งผลทำให้การมองเห็นลดลง เพราะฉะนั้น หากพบว่าดวงตาเกิดความผิดปกติ
ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดและรักษาอย่างถูกต้องต่อไปจะดีที่สุด
8.โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือด เกิดขึ้นจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการดังกล่าวถือว่าอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว
โดยพบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง ไม่ค่อยออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว
มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย
สำหรับอาการสำคัญของโรคหัวใจขาดเลือดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในระหว่างช่วงราวนม ลิ้นปี่
โดยรู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับไว้ จนหายใจไม่สะดวกและอาจร้าวไปยังคอ กราม แขนข้างซ้ายด้านใน
อีกทั้งยังมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยได้ เช่น เหนื่อยหอบ มีเหงื่อออก ตัวเย็น ศีรษะเย็น หน้ามืด ใจสั่น และนอนราบไม่ได้
ผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจึงควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดี หากพบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ควรรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์โดยเร็ว
9.โรคไต
ผู้ที่เป็นโรคไต ในเริ่มแรกนั้นมักจะไม่มีอาการของโรคแสดงออกมา จนกระทั่งไตเริ่มเสื่อมสภาพมากขึ้น
การทำงานของไตก็จะเสื่อมประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดการคั่งค้างของของเสียมากขึ้น ซึ่งอาการผิดปกติหรืออาการของโรคที่จะแสดงออกมามากขึ้น
ก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่อง่าย บวม มีระดับความดันโลหิตสูง หากเป็นมากใกล้จะเป็นไตวายเรื้อรังก็จะยิ่งมีอาการซีด
คันตามเนื้อตัว เบื่ออาหาร อาการดังกล่าวนี้ทางการแพทย์จะรักษาผู้ป่วยด้วยการล้างไต ฟอกเลือดใหม่ และทำการเปลี่ยนไตให้ใหม่ในเวลาต่อมา
วิธีดูแลสุขภาพในแบบเบื้องต้น เมื่อเข้าสู่วัยชรา
1.ใส่ใจควบคุมโภชนาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมดีพอกับร่างกาย โดยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เลี่ยงการทานรสเค็มจัด และรสหวาน
2.ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ โดยดื่มให้ได้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย
3.ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย เช่น การเดิน วิ่งจ้อกกิ้ง ว่ายน้ำ โยคะ และปั่นจักรยาน เป็นต้น โดยควรออกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที
4.ควรควบคุมน้ำหนักให้คงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ควรปล่อยตัวให้อ้วนเกินไป
5.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
6.ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด และควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
7.หมั่นเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย หากพบความผิดปกติขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้รับมือความผิดปกติอย่างเท่าทัน
8.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการใช้ยารักษาอาการเจ็บป่วยด้วยตัวเองอย่างไม่เหมาะสม
เช่น ซื้อยารับประทานเอง และการใช้ยาตัวเก่าเพื่อรักษาอาการใหม่ หรืออาจจะนำยาจากผู้อื่นมาใช้ก็ไม่ควรอย่างยิ่ง
9.ควรหมั่นพบแพทย์อยู่เสมอ เพื่อจะได้รับคำปรึกษาต่างๆ ทั้งวิธีการปฏิบัติตัว และการใช้ยารักษาโรคได้อย่างถูกต้อง
10.ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยควรตรวจสม่ำเสมอทุก 6-12 เดือนจะดีที่สุด โดยเฉพาะวัยสูงอายุแบบนี้ด้วยแล้ว โอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ หลายโรคย่อมมีสูง
แต่การตรวจสุขภาพอยู่เสมอย่อมทำให้ค้นพบโรคในระยะแรกได้เร็ว และสามารถทำการรักษาได้หายขาดค่อนข้างสูงนั่นเอง
และนี่ก็คือ โรคที่พบบ่อยในผู้เข้าสู่วัยชรา ดังนั้น จึงควรหมั่นพบแพทย์อยู่เสมอ และควรตรวจสุขภาพประจำปี
นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพในแบบเบื้องต้นตามที่เราแนะนำ รวมถึงผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เข้าสู่วัยชราก็ด้วยเช่นเดียวกัน
เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาวโดยห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้นนั่นเอง
มีประโยชน์มากค่ะ
ตอบลบ